บทความนี้อธิบายเกี่ยวกับยาทาสเตียรอยด์และข้อบ่งใช้ต่างๆในการรักษาโรคทางผิวหนัง ถ้าหากคุณมีคำถามเพิ่มเติม กรุณาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากแพทย์และพยาบาล
ยาสเตียรอยด์ชนิดทาเป็นสเตียรอยด์ที่ใช้สำหรับทาลงบนผิวหนัง และมีไว้สำหรับใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆ ยาทาสเตียรอยด์มีความคล้ายคลึงกับสารสเตียรอยด์ที่ถูกผลิตขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติ ซึ่งสารเหล่านี้ออกฤทธิ์โดยการลดการอักเสบในผิวหนัง ช่วยให้ผิวหนังคันและแดงน้อยลง
ยาทาสเตียรอยด์ มีหลายชนิดและแต่ละชนิดมีความแรงที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากที่คุณควรจะทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิดในการทายาสเตียรอยด์ที่มีความแรงแตกต่างกันในแต่ละส่วนของร่างกาย
สำหรับผู้ใหญ่ ยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรงเหมาะสำหรับการทาบนตัว ส่วนสเตียรอยด์ที่มีความแรงระดับอ่อนถึงระดับกลางเหมาะสำหรับการใช้บนใบหน้าและตามขอพับต่างๆ
สำหรับเด็กและทารก ยาเสตียรอยด์ที่ความแรงระดับอ่อนถึงปานกลางจะเหมาะสมกว่า ในบางกรณียาสเตียรอยด์ที่มีความแรงก็อาจสามารถนำมาใช้กับโรคผิวหนังบางชนิดบนใบหน้าและตามข้อพับต่างๆได้ เพียงแต่ใช้ในระยะเวลาที่สั้นๆ
Ointment: ออยเมนท์ เป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันเข้มข้นที่สุด ซึ่งจะเหมาะสมกับผิวหนังที่มีความแห้งมาก
Cream: เนื้อครีมจะมีความเข้มข้นและความมันน้อยกว่าออยเมนท์ แต่ ก็จะมีความชุ่มชื้นน้อยกว่าเช่นกัน บางครั้งครีมจะเหมาะสำหรับการใช้กับผิวหนังบริเวณใบหน้าและมือ หรือสภาพผิวหนังที่มีความชื้นแฉะ
Lotion: โลชั่นจะมีเนื้อที่เข้มข้นน้อยกว่าครีมและสามารถใช้ทาผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง หรือเหมาะสำหรับผิวหนังบริเวณที่มีขนอยู่
Solutions and scalp applications: โซลูชั่นและผลิตภัณฑ์สำหรับทาหนังศีรษะ มีลักษณะเป็นน้ำหรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นลักษณะของผลิตภัณฑ์ชนิดที่เบาบางที่สุดสำหรับผิว การใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เมื่อนำมาทาบริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบอาจทำให้เกิดอาการแสบได้
Tapes: เทปยา เหมาะสำหรับใช้รักษาบริเวณมือและเท้าได้ดี ซึ่งที่ตัวเทปจะมีการเคลือบยาสเตียรอยด์ไว้ ทำให้ออกฤทธิ์ได้นานและต่อเนื่องกว่า
เมื่อใช้ยาทาสเตียรอยด์อย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและในขณะเดียวกันสามารถลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
ล้างมือให้สะอาดก่อนเริ่มทายาทุกครั้ง
บีบยาออกมาจากหลอดเป็นเส้นตรงลงบนปลายนิ้วจนถึงข้อนิ้วแรกเป็นความยาวหนึ่งข้อนิ้ว (เรียกว่า fingertip unit หรือ FTU) ปริมาณยาเท่านี้เพียงพอต่อการทาบนผิวหนังที่มีขนาดพื้นที่ประมาณสองฝ่ามือวางติดกัน
ทายาลงเฉพาะบริเวณที่มีผื่นบนผิวหนังตามที่แพทย์แนะนำ และทาไปในทิศทางเดียวกันกับทิศของแนวเส้นขน ไม่ควรถูขึ้นลงไปมา เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดรูขุมขนอุดตันได้
ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังทายาเสร็จ
การวัดปริมาณยาเป็นหน่วยข้อนิ้วมือจะช่วยกะปริมาณยาที่ควรทาได้ โดยปกติแล้ว หนึ่งข้อนิ้วมือจะเทียบเท่ายาประมาณ 0.5 กรัม (ครีมและออยเมนต์) โดยวิธีการวัดหนึ่งข้อนิ้วมือจะเท่ากับการบีบยาเป็นเส้นตรงจากเส้นข้อนิ้วสุดท้ายจนถึงปลายนิ้ว แต่สำหรับเด็กปริมาณยาหนึ่งข้อนิ้วมือ จะเทียบจากข้อนิ้วมือของผู้ใหญ่ และยาปริมาณเท่านี้สามารถทาผิวในพื้นที่ที่ขนาดแตกต่างกัน ตามอายุของเด็กในแต่ละช่วงวัย
ตารางที่ 2 – ขนาดพื้นที่ผิวและปริมาณยาที่ใช้สำหรับเด็ก
ปริมาณยาเป็น ข้อนิ้วมือ (FTU) | |||||
ช่วงอายุ | ทั่วใบหน้าและคอ | แขนและมือ | ขาและเท้า | อกและท้องด้านหน้า | หลังและก้น |
3-12 เดือน | 1 | 1 | 1.5 | 1 | 1.5 |
1-2 ปี | 1.5 | 1.5 | 2 | 2 | 3 |
3-5 ปี | 1.5 | 2 | 3 | 3 | 3.5 |
6-10 ปี | 2 | 2.5 | 4.5 | 3.5 | 5 |
ตารางที่ 3 – ขนาดพื้นที่ผิวและปริมาณยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่
บริเวณ | ปริมาณยาเป็น ข้อนิ้วมือ (FTU) |
ศีรษะ | 3 |
ใบหน้าและคอ | 2.5 |
ด้านหน้าและหลังมือ | 1 |
แขนและมือ 1 ข้าง | 4 |
ขาและเท้า 1 ข้าง | 8 |
ลำตัวด้านหน้า | 8 |
ลำตัวด้านหลัง | 8 |
ควรหลีกเลี่ยงการทายาสเตียรอยด์และมอยส์เจอร์ไรเซอร์พร้อมๆกัน เนื่องจากมอยส์เจอร์ไรเซอร์จะไปเจือจางยาสเตียรอยด์ให้เข้มข้นลดลง เมื่อจะต้องใช้ยาเสตียรอยด์และมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ในทางปฏิบัติแล้ว ควรทามอยเจอไรเซอร์ ก่อน 30 นาทีเพื่อคอยให้ครีมแห้งดี หลังจากนั้นจึงทายาสเตียรอยด์ตาม ยาจะออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น
ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาด้วยยาทาสเตียรอยด์จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคผิวหนังที่เป็นอยู่ ความแรงของยาที่ใช้ และตำแหน่งของผิวหนังที่ทา โดยปกติแล้วความเสี่ยงของการเกิดผลแทรกซ้อนจากยาจะเพิ่มขึ้นหลังจากทาติดต่อกัน ประมาณ 1-2 เดือน ถ้าจำเป็นจะต้องทายายาวนานกว่านี้ ควรจะมีช่วงที่พักจากการใช้ยาหรือ มีการปรับเปลี่ยนความถี่ของการใช้ยาเพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง
อย่างไรก็ตามการหยุดยาทันทีทันใดบางครั้งอาจทำให้โรคผิวหนังที่สงบไปแล้วกลับขึ้นมาเป็นใหม่ได้ ดังนั้นระยะเวลาในการรักษาและวิธีการหยุดยาจะมีความแตกต่างกันในแต่ละราย จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
เมื่อใช้อย่างถูกวิธี โอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาทาสเตียรอยด์นั้นน้อยมาก อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ได้แก่
เช่นเดียวกันกับยาชนิดอื่นๆ ข้อมูลด้านความปลอดภัยสำหรับยาสเตียรอยด์ชนิดทาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรยังมีจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้มีการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่แสดงให้เห็นถึงผลเสียอันตราย
ก่อนใช้ยานี้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ยาถูกส่งต่อไปยังทารก สมควรใช้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดอ่อนบริเวณเต้านมและรอบหัวนมเท่านั้น รวมถึงควรมีการเช็ดหรือล้างทำความสะอาดยาออกจากเต้านมก่อนให้นมบุตรทุกครั้ง
ยาทาสเตียรอยด์สามารถทำให้การติดเชื้อที่ผิวหนังแย่ลงได้ ดังนั้นถ้าคุณมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราบนผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้ เว้นแต่ว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาหากมีการติดเชื้อดังกล่าว
เรียบเรียงโดย ทีมแพทย์ผิวหนัง พัชรเวช คลินิก