fbpx

Patcharavej Clinic

FAQ - คำถามที่พบบ่อยของการฉีดวัคซีนโควิด

vaccine, coronavirus, medical-6165772.jpg

Q: โควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) มีอาการอย่างไร

  • A: จะมีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ มีน้ำมูกเด่น อาการคล้ายหวัดธรรมดาได้ ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรสหรือดมกลิ่น หากสงสัยหรือมีประวัติเสี่ยงควรรีบกักตัวและไปรับการตรวจหาเชื้อ เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีอาการรุนแรงได้และแพร่กระจายง่ายกว่าเดิม

Q: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดห่างจากวัคซีนโควิดนานเท่าไหร่

  • A: ห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ (ก่อนหรือหลังก็ได้) ถ้าเป็นวัคซีนซิโนแวคควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนเริ่มฉีดซิโนแวคหรือหลังครบ 2 โดสไปแล้ว    

Q: คนวางแผนมีลูก ฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่

  • A: สามารถฉีดได้ เพราะวัคซีนไม่มีผลต่อการตั้งท้อง

Q: กำลังมีประจำเดือนสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่

  • A: สามารถฉีดได้ตามปกติ

Q: หญิงให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนได้หรือไม่

  • A: รับวัคซีนได้และสามารถให้นมได้ตามปกติ

Q: มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่

  • A: มีโอกาสพบได้น้อยมาก จากสถิติพบไม่เกิน 10 เคสต่อการฉีดล้านครั้ง อาการมักเกิดช่วง 4-30 วันหลังฉีดและมักเกิดหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก โอกาสเกิดภายหลังเข็มสองมีน้อยกว่าเข็มแรกสิบเท่า

Q: อาการของลิ่มเลือดอุดตันมีอะไรบ้าง

  • A: ปวดหัวรุนแรงและต่อเนื่อง มีอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน อาการหายใจไม่อิ่ม เหนื่อย เจ็บหน้าอก ปวดหลังและปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนต่อเนื่อง มีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีจ้ำเลือดตามตัว มีตุ่มน้ำที่มีเลือดภายใน แขนขาบวมปวด โดยเฉพาะผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง หากอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

Q: ถ้าเคยติดโควิดและหายแล้ว ควรฉีดวัคซีนอีกหรือไม่

  • A: ควร แต่ให้เว้นหลังติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน เพราะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่

Q: ถ้าติดเชื้อโควิดหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก ควรฉีดเข็มที่สองหรือไม่

  • A: เมื่อรักษาหายแล้วสามารถฉีดเข็มสองหลังติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือน

Q: ก่อนฉีดวัคซีนต้องเตรียมตัวอย่างไร

  • A: ควรพักผ่อนให้เพียงพอและให้ดื่มน้ำตามปกติเท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำมากจนเกินไป

Q: หากกำลังจะไปฉีดวัคซีนโควิดแต่ถูกสุนัขหรือแมวกัด ควรจะเลื่อนวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักออกไปหรือไม่

  • A: ไม่ควรเลื่อน ให้รีบฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักได้เลยโดยไม่ต้องรอ เนื่องจากสองโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ามาก

Q: เป็นผู้ป่วยเบาหวาน แต่ระดับน้ำตาลในเลือดยังคุมไม่ได้ สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่

  • A: สามารถฉีดวัคซีนได้และควรฉีด เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโควิดได้มากกว่าคนทั่วไป

Q: ความดันโลหิตสูงเป็นข้อห้ามของการฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่

  • A: ไม่ใช่ข้อห้ามของการฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่ภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉินวิกฤต อาจต้องพิจารณาเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าจะควบคุมให้ความดันลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คนที่กินยาลดความดันอยู่แล้ว ไม่ต้องงดยาก่อนฉีดวัคซีน

Q: หลังฉีดวัคซีนโควิดครบสองเข็มแล้ว จะมีโอกาสติดเชื้อได้หรือไม่

  • A: ไม่ว่ารับวัคซีนชนิดใดก็ตาม ยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่ เพียงแต่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน โดยในปัจจุบันพบว่าวัคซีนชนิด mRNA (ยังไม่มีในประเทศไทย) มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคได้สูงสุด ถึงแม้ว่าวัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทยขณะนี้จะยังไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงเท่า แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนทุกยี่ห้อสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น

รวบรวมโดย นพ.ธิติวัฒน์ ชัยกุล 

แพทย์ประจำ พัชรเวช คลินิก